ไม่มีชื่อ

 

Linux คืออะไร ?

หากพูดถึงระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์ที่คนส่วนใหญ่รู้จัก เราก็มักจะได้ยินคำตอบว่า "Windows" หรือไม่ก็ "macOS" แต่อันที่จริง มันยังมีระบบปฏิบัติการอีกตัวหนึ่งที่ได้รับความนิยมอยู่เหมือนกันนะ แม้จะมีผู้จำนวนผู้ใช้งานน้อยกว่าทั้งสองชื่อที่เรากล่าวไปข้างต้นค่อนข้างมาก แต่ก็ถือว่ามีส่วนแบ่งในตลาดสูงเป็นลำดับสามเลยล่ะ

ผู้ใช้บางรายอาจจะเคยเห็นระบบปฏิบัติการตัวนี้กันมาบ้าง เพราะคอมพิวเตอร์ หรือโน้ตบุ๊กบางรุ่นที่ต้องการลดต้นทุน เพื่อให้สามารถวางจำหน่ายได้ในราคาที่ถูกลง ก็เลือกที่จะไม่ติดตั้งระบบปฏิบัติการ Windows มาให้ แล้วใส่เป็น ระบบปฏิบัติการ Linux มาแทน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ใช้ก็จะลบมันออก แล้วติดตั้งระบบปฏิบัติการ Windows ด้วยตนเอง

แต่อันที่จริง ระบบปฏิบัติการ Linux ก็ไม่ได้แย่นะ มันมีข้อดีอยู่หลายอย่าง ที่ทำให้มันน่าใช้งานอยู่เหมือนกัน ในบทความนี้ก็เลยอยากจะมาแนะนำให้คุณผู้อ่านได้ทำความรู้จักกับระบบปฏิบัติการตัวนี้กันให้มากขึ้น

 

เนื้อหาภายในบทความ

Linux คืออะไร ?
(What is Linux ?)

Linux (อ่านออกเสียงภาษาไทยว่า "ลีนุกซ์") จริงๆ แล้ว มันก็เหมือนกับระบบปฏิบัติการอื่น ๆ อย่างเช่นพวก Windows, iOS, macOS, Android ฯลฯ แต่ในความเป็นจริงนั้น มันก็เป็นระบบปฏิบัติการที่ได้รับความนิยมสูงมากๆ อันนึงกันเลยทีเดียวละ

รู้หรือไม่ว่า ระบบปฏิบัติการ Android ที่พวกเราใช้งานกันอยู่ก็ ใช้พื้นฐานหลักมาจาก ระบบปฏิบัติการ Linux เช่นกัน เพียงแค่ผ่านการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับการทำงานบนสมาร์ทโฟนหน้าจอสัมผัส โลกของ Linux ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว มีการใช้ Linux ทั้งในรถยนต์, ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์, อุปกรณ์อัจฉริยะภายในบ้าน (อุปกรณ์ IoT), เครื่องเซิร์ฟเวอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อีกหลากหลายชนิด

โดย Linux ในทางเทคนิคแล้ว มันเป็นระบบปฏิบัติการแบบ เคอร์เนล (Kernel) (เหมือนกับ Darwin ใน OSX และ NT ใน Windows) สำหรับระบบปฏิบัติการ "GNU" ในอดีตระบบปฏิบัติการ Linux จะเรียกว่า "GNU/Linux" เพราะเป็นระบบปฏิบัติการที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง "GNU Project" ของ มูลนิธิซอฟต์แวร์ฟรี (Free Software Foundation) ที่มีความต้องการ ที่จะสร้างระบบปฏิบัติการแบบ Unix ขึ้นมา กับระบบปฏิบัติการ "Linux Kernel" ของ Linus Torvalds ทั้งคู่ได้ร่วมมือกันจนกลายมาเป็นชื่อ "GNU/Linux"

อย่างไรก็ตาม เพราะตามปกติแล้ว ระบบปฏิบัติการ Linux ก็จะมาพร้อมกับ GNU อยู่แล้ว (แต่ไม่เสมอไป) และคนส่วนใหญ่ก็รู้สึกว่าชื่อเดิมนั้นยาวไป จึงเริ่มมีบางคนเรียกระบบปฏิบัติการนี้ว่า "Linux" ดังนั้น เมื่อเอ่ยถึง Linux มันจึงอาจหมายถึงระบบปฏิบัติการ Linux หรือหมายถึง Linux Kernel ก็ได้

Linux เป็นซอฟต์แวร์ ที่อยู่ในรูปของการเปิดเผยซอร์สโค้ด (Open-source Software) ที่เกิดขึ้นมา จากนักพัฒนาหลายกลุ่ม โดยจะเรียกกลุ่มผู้พัฒนาเหล่านี้ว่า Linux Distribution หรือ Linux Distro ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มีนับร้อยกลุ่มเลยล่ะ ถ้าเป็นกลุ่มที่เป็นที่รู้จักกันดี ในกลุ่มผู้ใช้งาน ก็อย่างเช่น

  • MX Linux
  • EndeavourOS
  • Mint
  • Manjaro
  • Pop!_OS
  • Ubuntu
  • Garuda
  • Debian
  • openSUSE
  • และกลุ่มอื่นๆ อีกมากมาย

ข้อมูลเพิ่มเติม : Open-Source Software คืออะไร ? โอเพ่นซอร์สซอฟต์แวร์ ต่างจาก ซอฟต์แวร์ ชนิดอื่นๆ อย่างไร ?

จุดกำเนิด หรือ จุดเริ่มต้น ของ ระบบปฏิบัติการ Linux
(The beginning of Linux operating system)

การกำเนิดขึ้นมาของ ระบบปฏิบัติการ Linux เริ่มต้นจากกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่เบื่อกับระบบปฏิบัติการ Windows และไม่ชอบแนวทางการทำธุรกิจของ Microsoft ที่ครอบครองส่วนแบ่งในตลาดเอาไว้เกือบทั้งหมด พวกเขาเชื่อว่ามันควรมีตัวเลือกอื่นให้ใช้งาน และมองว่าระบบปฏิบัติการ Windows ไม่ได้ดีขนาดนั้น มันเต็มไปด้วยช่องโหว่ มัลแวร์ก็เพียบ แต่เพราะไม่มีตัวเลือกอื่นจึงต้องยอมทนใช้

โดย Linus Torvalds เป็นหนึ่งในคนที่รู้สึกเช่นนั้น ในช่วงปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) มีความคิดว่าที่จะสร้างระบบปฏิบัติการของตนเองขึ้นมา โดยอ้างอิงพื้นฐานมาจากจากระบบปฏิบัติการ UNIX เขาขังตัวเองอยู่ในห้องนอนที่บ้านแม่ และกินแค่พาสตาเพื่อประทังชีวิต

Linux คืออะไร ? และ Linux แตกต่างจาก Windows อย่างไร ?
Linus Torvalds
ภาพจาก : https://news.pureblogbd.info/linus-torvalds-says-github-creates-absolutely-useless-junk-merges/

ระหว่างนั้นเขาได้โพสต์ข้อความลงบนอินเทอร์เน็ตว่า "เฮ้พวก ฉันกำลังสร้างระบบปฏิบัติการ (ฟรี) อยู่ (แค่งานอดิเรกนะ มันไม่ได้ยิ่งใหญ่ และเป็นระดับมืออาชีพ)" หลังจากนั้นไม่นานก็มีโปรแกรมเมอร์นับพันคนเข้ามาช่วยพัฒนาจนทำให้มันเกิดขึ้นได้สำเร็จ โดยหัวใจหลักของ Linux ก็คือระบบปฏิบัติการพื้นฐานที่เรียกว่า Kernel 

Linux คืออะไร ? และ Linux แตกต่างจาก Windows อย่างไร ?
Linux kernel 3.0.0
ภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/Linux_kernel

ระบบปฏิบัติการ Linux ต่างจาก Windows อย่างไร ?
(How does Linux differ from Windows operating system ?)

แม้ทั้งคู่จะเป็น ระบบปฏิบัติการ (Operating System - OS) เหมือนกัน แต่มันก็มีความแตกต่างกันอยู่หลายประการ ดังนี้

Linux ใช้งานได้ "ฟรี"

ระบบปฏิบัติการ Linux อยู่ภายใต้สัญญาอนุญาตสาธารณะทั่วไปแบบ General Public License version 2 (GPL 2) นั่นหมายความว่า ผู้ใช้สามารถเผยแพร่, ใช้งาน, แก้ไข หรือจัดจำหน่ายมันได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะในรูปแบบ Source หรือ Binary และสัญญาอนุญาตนี้จะต้องคงอยู่สืบเนื่องตลอดไป ในขณะที่ Windows และ macOS เป็นซอฟต์แวร์แบบ ซอฟต์แวร์กรรมสิทธิ์ (Proprietary Software)

Linux ให้อิสระในการปรับแต่งสูงกว่า Windows

ในระบบปฏิบัติการ Windows ผู้ใช้สามารถปรับแต่งการตั้งค่าได้เท่าที่ทางผู้พัฒนา (Microsoft) อนุญาตเท่านั้น ซึ่งระบบปฏิบัติการ Linux จะไม่มีข้อจำกัดแบบนั้น เนื่องจากมีรหัสต้นฉบับ (Source Code) ให้เลือกใช้เป็นจำนวนมาก และระบบสร้างซอฟต์แวร์อัตโนมัติที่มีให้ใช้งาน

ด้วยเหตุนี้เอง ผู้ใช้จึงสามารถปรับแต่ง ระบบปฏิบัติการ Linux ให้เป็นไปตามความต้องการของตนเองได้แทบทุกภาคส่วน นอกจากนี้ ซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่บน ระบบปฏิบัติการ Linux จะออกแบบมาโดยเน้นไปที่ความอิสระในการใช้งาน มากกว่าที่จะจำกัดผู้ใช้ให้ใช้งานตามกรอบเจตนารมณ์ของผู้พัฒนา อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่าการนำเสนออิสระแบบนี้ก็มีข้อเสียตรงที่ ทำให้มีโอกาสพบบั๊ก หรือปัญหามากขึ้นด้วยเช่นกัน

Linux เกิดขึ้นจากความสามัคคีของนักพัฒนา

ลักษณะเด่นที่สุดของ ระบบปฏิบัติการ Linux คือการที่ตัวระบบปฏิบัติการมีการพัฒนาแบบกระจายอำนาจ ไม่มีกลุ่มใดที่ครอบครองอำนาจในการพัฒนาเอาไว้เพียงลำพัง แม้ว่า Linux Kernel ที่เป็นแกนหลักของระบบปฏิบัติการ (หรือที่นิยมเรียกว่า Vanilla Kernel) จะพัฒนา และดูแลโดย Linus Torvalds แต่การพัฒนา และแก้ไขปรับปรุงเกิดขึ้นจากความร่วมมือขององค์กรหลายแห่ง และโปรแกรมเมอร์อีกหลายคน ที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีเพียงการรับเงินบริจาคเพียงอย่างเดียว

เมื่อ Linux Distribution หรือ Linux Distro มีการปรับปรุง หรือแก้ไขอะไรเกิดขึ้นก็ตาม ส่วนใหญ่ก็ส่งกลับไปให้ทาง Linus Torvalds รีวิวเพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการนำไปปรับใช้งาน นอกจากนี้ Linux Distribution แต่ละกลุ่มจะมีการกำหนดรอบการอัปเดตที่แตกต่างกัน แยกอิสระออกจากการอัปเดตตัว Linux Kernel อีกด้วย

และทั้งหมดนี้ ก็เป็นจุดที่แตกต่างจากการพัฒนา ระบบปฏิบัติการ Windows ของ Microsoft หรือ macOS ของ Apple ที่การพัฒนาระบบปฏิบัติการ, Kernel, ส่วนประกอบต่าง ๆ ของหน้าจอเดสก์ท็อป (Desktop) ฯลฯ ทั้งหมดจะถูกควบคุมโดยบริษัทเพียงรายเดียว

เรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ระบบปฏิบัติกการ Linux
(The misconceptions about the Linux operating system)

เราได้กล่าวไปตั้งแต่ช่วงต้นของบทความว่า ระบบปฏิบัติการ Linux มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลากหลายชนิด แต่หากเป็นคอมพิวเตอร์แล้ว มีผู้ใช้งานน้อยคนมากที่ต้องการใช้ ระบบปฏิบัติการ Linux เป็นระบบปฏิบัติการหลัก

โดยส่วนเหตุผลที่ทำให้ไม่มีใครอยากใช้งาน ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องเข้าใจผิด หรือมันอาจจะเป็นเรื่องจริง แต่ก็เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในอดีตที่ ระบบปฏิบัติการ Linux ในปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้นแล้ว 

Linux ใช้งานยาก ?

หากคุณคิดว่า ระบบปฏิบัติการ Linux นั้นใช้งานยาก อยากให้ลองคิดถึงครั้งแรกในชีวิตที่คุณสัมผัสกับคอมพิวเตอร์ (เชื่อว่าส่วนใหญ่น่าจะใช้ระบบปฏิบัติการ Windows) คุณก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันใช้อย่างไร ? สั่งงาน หรือติดตั้งโปรแกรมอย่างไร ? แต่คุณก็ใช้งานมันมาตลอดจนในที่สุดคุณก็ใช้งานเป็น

ซึ่งระบบปฏิบัติการ Linux ก็เช่นกัน มันให้ความรู้สึกยากเพราะคุณไม่เข้าใจมันเช่นกัน และคาดหวังว่ามันจะใช้งานได้เหมือนกับระบบปฏิบัติการ Windows ที่คุณคุ้นชิน แต่เพราะมันไม่เหมือนกันเลย คุณก็เลยมองว่ามันยาก

ในการเริ่มใช้งานครั้งแรก หากคุณไม่เคยใช้ ระบบปฏิบัติการ macOS มาก่อน คุณก็จะรู้สึกว่ามันยาก ซึ่งระบบปฏิบัติการ Linux ก็ไม่ได้แตกต่างกันในจุดนี้ แต่ส่วนหนึ่งเราก็ยอมรับว่า ระบบปฏิบัติการ Linux มันอาจจะยากกว่าตรงที่มันมีตัวเลือกค่อนข้างเยอะ ทำให้เกิดความสับสนได้ง่ายกว่า

ต้องใช้ Command-Line เป็น จึงจะใช้ Linux ได้

อีกหนึ่งความเข้าใจผิดที่ทำให้ผู้ใช้หวาดกลัวที่จะเริ่มใช้งานระบบปฏิบัติการ Linux คือคุณจำเป็นต้อง มีความสามารถในการส่งคำสั่งด้วยการพิมพ์คำสั่ง ในรูปแบบ Command-Line เป็นด้วย

มันเป็นเรื่องจริงที่ Linux เป็นระบบปฏิบัติการที่สามารถใช้งาน Command-Line ได้เป็นอย่างดี และหากจะใช้งาน Linux โดยอาศัย Command-Line แค่เพียงอย่างเดียวก็สามารถทำได้

แต่ในการใช้งานปกติ ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องไปยุ่งเกี่ยวกับ Command-Line เลย อาจจะมีบางคำสั่งที่สามารถใช้ในการแก้ไขปัญหาได้ แต่นั่นก็ไม่ได้แตกต่างจากการแก้ไขปัญหาในระบบปฏิบัติการอื่น ๆ อย่างใน ระบบปฏิบัติการ Windows เองก็มีบ่อยครั้งที่ใช้ Command-Line ผ่าน Cmd ในการแก้ไขปัญหาเช่นกัน

อีกทั้งทาง Linux Distribution เอง ก็ได้พยายามพัฒนาตัว หน้าจอผู้ใช้งานแบบกราฟิก (Graphic User Interface - GUI) ให้มีความเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน (User-Friendly) ที่เป็นมือใหม่ ให้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนแทบไม่จำเป็นต้องพึ่งการใช้ Command-Line อีกต่อไป

Linux ไม่มีซอฟต์แวร์ให้ใช้

และถึงแม้ว่า ระบบปฏิบัติการ Linux จะไม่มีซอฟต์แวร์มากเท่ากับระบบปฏิบัติการ Windows หรือ macOS แต่มันก็มีซอฟต์แวร์อยู่พอสมควร และมีซอฟต์แวร์ดี ๆ อยู่ไม่น้อย ซอฟต์แวร์ชั้นนำหลายตัวที่มีบน ระบบปฏิบัติการ Windows และ macOS ก็มีการพัฒนาลงแพลตฟอร์ม Linux แล้วเป็นจำนวนมาก

ยิ่งไปกว่านั้น หากต้องการใช้ซอฟต์แวร์ของ ระบบปฏิบัติการ Windows บน Linux จริง ๆ ก็สามารถติดตั้งใช้เพื่อใช้งานผ่าน Wine ได้อีกด้วยเช่นกัน

บน Linux ไม่มีเกมเล่น

หากคุณเป็นฮาร์ดคอร์เกมเมอร์ เราก็ต้องยอมรับว่าเกมระดับ AAA ยังไม่ค่อยมีลงให้เล่นบน Linux มากนัก แต่ถ้าเป็นเกมแนว Casual ล่ะก็ มีให้เลือกเล่นหลายแนวอยู่มากพอสมควร

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ การเล่นเกมบน ระบบปฏิบัติการ Linux มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แพลตฟอร์ม Steam เองก็ทำลง Linux ด้วยเช่นกัน โดยมีเกมอยู่มากกว่า 3,000 เกม กันเลยทีเดียว


เป็นอย่างไรกันบ้าง หากไม่อยากเสียเงินกับระบบปฏิบัติการ Windows ก็ลองเปิดใจให้ Linux ดูบ้างก็ได้นะ ใช้งานฟรี และถูกลิขสิทธิ์ด้วย


แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า